สภาดิจิทัลฯ ผนึก มูลนิธิตะวันฉายฯ, สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ลงนาม MOU โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
สภาดิจิทัลฯ ผนึก มูลนิธิตะวันฉายฯ, สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ลงนาม MOU โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล ขับเคลื่อนแพลตฟอร์มดิจิทัล ยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่
กรุงเทพฯ 16 กันยายน 2567
ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท (ที่ 2 จากซ้าย) ประธานสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น (ที่ 2 จากขวา) ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉาย เพื่อผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า นายวิลาส เตโช (ขวาสุด) ผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ นายชาง ฟู (ซ้ายสุด) หัวหน้าสายงานด้านดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด ลงนามความร่วมมือโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล ณ ห้องประชุมชั้น 4 อาคารสุทธิ สภาดิจิทัลฯ ถนนเพชรบุรี
ม.ร.ว. นงคราญ ชมพูนุท ประธานสภาดิจิทัลฯ กล่าวว่า “สภาดิจิทัลฯ ในฐานะองค์กรกลางที่ทำงานร่วมกับภาคเอกชน ภาครัฐ และประชาชน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง จึงได้ริเริ่มโครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล โดยร่วมมือกับมูลนิธิตะวันฉายฯ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ร่วมกันส่งเสริมการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่เท่าเทียม โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ และผู้ที่มีความพิการทางใบหน้า ให้พวกเขาเข้าถึงข้อมูลและบริการทางการแพทย์ได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสที่ดีกว่าในอนาคต ทั้งนี้ สภาดิจิทัลฯ พร้อมที่จะเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนโครงการต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และสร้างสังคมที่เท่าเทียมให้กับทุกคน”
ศ.นพ.บวรศิลป์ เชาวน์ชื่น ประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวว่า “ขอบคุณความร่วมมือระหว่างสภาดิจิทัลฯ และพันธมิตร ที่ร่วมกันพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และครอบครัวเข้าถึงข้อมูลและบริการทางการแพทย์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ทั้งการลงทะเบียน การปรึกษาแพทย์ ไปจนถึงการดูแลตนเองที่บ้าน โดยการนำเทคโนโลยี Telemedicine มาใช้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้แบบออนไลน์ นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาสื่อการเรียนรู้ดิจิทัล เพื่อให้ความรู้แก่ผู้ป่วยและครอบครัวอย่างครอบคลุม ทั้งนี้ การทำงานร่วมกับสภาดิจิทัลฯ และพันธมิตร จะช่วยให้เราสามารถพัฒนาแพลตฟอร์มที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ป่วยได้อย่างครบวงจร และขยายผลไปยังผู้ป่วยในพื้นที่ห่างไกลได้มากขึ้น”
นายวิลาส เตโช ผู้อำนวยการสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน กล่าวว่า “การร่วมมือในครั้งนี้เป็นโอกาสสำคัญที่สมาคมฯ จะได้นำความรู้และเครือข่ายในพื้นที่ไปช่วยเหลือผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ ให้เข้าถึงการดูแลสุขภาพที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชุมชนที่ห่างไกล โดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยให้คนในชุมชนมีความรู้ในการดูแลสุขภาพเบื้องต้น และสามารถส่งเสริมสุขภาพอนามัยของตนเองและครอบครัวได้มากขึ้น ทั้งนี้ การร่วมมือกับพันธมิตรทุกภาคส่วน จะช่วยให้สามารถขยายผลโครงการไปยังพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ และสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพที่ยั่งยืน”
นายชาง ฟู หัวหน้าสายงานด้านดิจิทัล เฮลท์ บริษัท ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า “ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ผู้ให้บริการดิจิทัลครบวงจร ในเครือ บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่นมีความยินดีที่ได้นำความเชี่ยวชาญในการพัฒนานวัตกรรมแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อการดูแลสุขภาพอย่างยั่งยืน ร่วมช่วยเหลือกลุ่มผู้เปราะบาง ตอกย้ำความตั้งใจของทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ในการสนับสนุนให้คนไทยทุกภูมิภาคทั่วประเทศ สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลได้อย่างทั่วถึง โดยความร่วมมือในโครงการนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป ได้พัฒนาแพลตฟอร์มเทเลแคร์ (Telecare) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และพิการแต่กำเนิดทางศีรษะและใบหน้าสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาโรคได้อย่างต่อเนื่องสะดวก และรวดเร็ว โดยสามารถนัดหมายและพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางและการรอคิวที่โรงพยาบาล ขณะเดียวกันยังเพิ่มขีดความสามารถให้แพทย์และบุคลากรการแพทย์สามารถจัดการนัดหมายและให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทั่วประเทศผ่านแพลตฟอร์มเทเลแคร์ แพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้จำนวนมากขึ้นและติดตามอาการของผู้ป่วยได้อย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ทรู ดิจิทัล กรุ๊ป จะเดินหน้าพัฒนาบริการดิจิทัลด้านสุขภาพอย่างต่อเนื่องเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นแบบยั่งยืนของคนไทยทั่วประเทศ”
นายลักษมณ์ เตชะวันชัย รองประธานสภาดิจิทัลฯ ได้กล่าวถึงบทบาทสำคัญของเทคโนโลยีดิจิทัลในการปฏิวัติวงการแพทย์ โดยอ้างอิงข้อมูลจากรายงานสุขภาพคนไทยปี 2567 พบว่า ปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในภาคสุขภาพอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลสุขภาพตนเอง การให้บริการทางการแพทย์ หรือการบริหารจัดการระบบสุขภาพ โดยเทคโนโลยีดิจิทัลช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการทางการแพทย์ ลดต้นทุน และทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้สะดวกยิ่งขึ้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) กำลังเข้ามามีบทบาทสำคัญในการปฏิวัติวงการแพทย์ โดยใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลทางการแพทย์ และพัฒนายารักษาโรคใหม่ๆ ได้
นอกจากนี้ ภายในงาน ยังมีการเสวนาโดยผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายสาขา ได้แก่ รศ.นพ. ฉันชาย สิทธิพันธุ์ กรรมการแพทยสภา และคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, นายประกอบ จ้องจรัสแสง รองประธานสภาดิจิทัลฯ, พ.ญ. พิรญาณ์ ธำรงธีระกุล CEO และ Co-founder Chiiwii และกรรมการสภาดิจิทัลฯ และ พว.ยุพิน ปักกะสังข์ พยาบาลชำนาญการ (ผู้ประสานงานการดูแลฯ และผู้จัดการรายกรณีของศูนย์ตะวันฉาย) ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองในหัวข้อ “โอกาส ทิศทาง และการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลต่อระบบการแพทย์และสาธารณสุขไทย”
สำหรับ โครงการสร้างเสริมสุขภาพผ่านเครือข่ายสังคมดิจิทัล มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างแพลตฟอร์มที่เชื่อมโยงผู้ป่วย ครอบครัว และบุคลากรทางการแพทย์เข้าด้วยกัน ทำให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพ ข่าวสารเกี่ยวกับโรค วิธีการดูแลตนเอง และปรึกษาแพทย์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว นอกจากนั้น ยังมีการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการทางการแพทย์ รวมทั้งส่งเสริมการเข้าถึงเทคโนโลยีและการใช้ 5G ของกลุ่มเปราะบาง ตั้งเป้า 500 รายในระยะแรก และขยายผลไปยังกลุ่มเป้าหมายอื่นๆ ในอนาคต
____
#สมาคมหนังสือพิมพ์ส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย(สภท.๕๙ปี)
#นสพ.ข่าวเป็นข่าวดอทคอมเอกชัยรายงาน
#ติดต่อโฆษณากดแชร์กดติดตามไอดีLINEeakkachai001
โทร0894981477